ในแวดวงการศึกษาปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งพยายามปรับตัวเข้าสู่ความเป็นนานาชาติ ซึ่งการปรับตัวนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการปรับตัวในลักษณะนี้โดยเราจะเริ่มสังเกตเห็นว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเริ่มทยอยกันเปิดหลักสูตร EMI หรือหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอน (English Medium Instruction) แล้วหลักสูตร EMI นี้คืออะไรกันแน่ ต่างจากหลักสูตรอินเตอร์อย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ
EMI คืออะไร
EMI ย่อมาจาก “English Medium Instruction” คือ การใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอน หรือ การนำภาษาอังกฤษมาใช้เป็นภาษาหลักในการจัดการเรียนรู้เพื่อสอนวิชาต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก (First language)
เนื่องจากภาษาอังกฤษได้กลายมาเป็นภาษากลางในการสื่อสารของคนทั้งโลก (English as a lingua franca) และหลาย ๆ ประเทศก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองหรือภาษาที่สาม ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอนมากขึ้น ตัวอย่างของ EMI ในประเทศไทยที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ (English Program) หลักสูตรนานาชาติ (International Program) และหลักสูตรสองภาษา (Bilingual Program) นั่นเอง
เป้าหมายหลักของ EMI คือ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาไทยในการศึกษาต่อระดับนานาชาติ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาวิชานั้น ๆ เพื่อนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างโอกาสและความก้าวหน้าในการเรียนต่อหรือการประกอบอาชีพในอนาคต
Full EMI vs Partial EMI
ถ้าจะให้จำแนกประเภทของ EMI ตามการใช้ภาษาในการสื่อสารตลอดหลักสูตร เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ หลักสูตรที่ใช้เฉพาะภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน (Full EMI) และหลักสูตรที่ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการจัดการเรียนการสอน (Partial EMI)
หลักสูตรที่ใช้เฉพาะภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน (Full EMI) คือ หลักสูตรที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้เฉพาะภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ โดยจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับผู้เรียนในห้องเรียน ในการเรียนการสอนแบบ Full EMI นี้จะใช้สื่อการเรียนการสอนและข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ ตัวอย่างของ Full EMI ในประเทศไทย ได้แก่ หลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น วิศวะอินเตอร์ หรือ แพทย์นานาชาติ เป็นต้น
ส่วนหลักสูตรที่ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการจัดการเรียนการสอน (Partial EMI) คือ หลักสูตรที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการจัดการเรียนการ โดยคุณครูหรืออาจารย์จะสอนวิชาต่าง ๆ โดยใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งตัวอย่างของ Partial EMI ที่เราคุ้นเคยกันในประเทศไทยก็คือ Mini EP หรือบางที่อาจจะใช้คำว่า MLP (Mini Language Program) โดยหลักสูตรเหล่านี้จะใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนในบางวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ส่วนวิชาอื่น ๆ จะใช้ภาษาไทยในการจัดการเรียนการสอน
Weak EMI vs Mild EMI vs Strong EMI
บัญชาการ สมีเพ็ชร (Sameephet, 2020) ได้จําแนกประเภทของ EMI ในบริบทภาวะหลายภาษาในสถานศึกษา (Multilingualism) ออกเป็น 3 ประเภทตามระดับการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนและการประเมิน (English Linguistic Gears หรือ Gears) ได้แก่ Weak EMI, Mild EMI และ Strong EMI
Weak EMI คือการที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ภาษาอังกฤษอย่างน้อย ร้อยละ 25 ของระยะเวลาสอนตลอดภาคการศึกษา และใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนร้อยละ 75 ตลอดภาคการศึกษา โดยการใช้ภาษาแบบ Weak EMI สำหรับการป้อนเนื้อหา (Input) นั้นการใช้สื่อการเรียนการสอนและเอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษ
Mild EMI คือการที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยในสัดส่วนที่เท่ากันคือ ร้อยละ 50 ของระยะเวลาสอนตลอดภาคการศึกษา สำหรับการป้อนเนื้อหา (Input) สื่อการสอนและเอกสารต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษ และการเขียนรายงานหรือการนำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเช่นกัน
Strong EMI คือการที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ภาษาอักฤษอย่างน้อยร้อยละ 75 หรือมากกว่าของระยะเวลาสอนตลอดภาคการศึกษา และใช้ภาษาไทยสอนร้อยละ 25 หรือน้อยกว่าตลอดภาคการศึกษา สำหรับการป้อนเนื้อหา (Input) การใช้สื่อการสอนเอกสารต่าง ๆ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด การเขียนรายงานหรือการนำเสนอหน้าเรียนเรียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษ กิจกรรมในห้องเรียนก็ควรเป็นงานที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง (hands-on tasks) และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน นอกจากนี้ในข้อสอบกลางภาคหรือปลายภาค ต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
‘Gears’ ที่กล่าวมานี้อาจจะช่วยคลายความกังวลให้กับคุณครูหรืออาจารย์ผู้สอนเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษมือใหม่ได้อีกด้วยเพราะสามารถเลือก Gears ที่เหมาะสำหรับบริบทของตนเอง เหมาะกับระดับภาษาของนักเรียน และที่สำคัญเหมาะสมความชำนาญของตนเอง หากคุณครูหรืออาจารย์ชำนาญแล้วก็สามารถเพิ่มระดับ Gears สูงขึ้นได้
สรุป
สรุปแล้ว การใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอน (EMI) เป็นแนวทางที่ตอบสนองต่อความต้องการของการศึกษานานาชาติ ช่วยให้นักเรียนไทยพัฒนาทั้งความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันในตลาดแรงงานระดับสากล อย่างไรก็ตาม การนำ EMI มาใช้ควรพิจารณาถึงระดับความเข้มข้นที่เหมาะสม เพื่อให้เหมาะกับบริบทการเรียนรู้และความสามารถด้านภาษาของนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูงสุดและนักเรียนสามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาได้อย่างแท้จริง
Acknowledgments
สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอขอบคุณ ดร.บัญชาการ สมีเพ็ชร สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์ในการเขียนบทความชิ้นนี้
References
ลวิตรา บุญปก, ธนัชพร ขัติยนนท์ ปูนอน, และ หทัยกาญจน์ หลาบคำ (2023). การสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในระดับอุดมศึกษาของไทย: ประโยชน์ ความท้าทาย และข้อเสนอแนะ. วารสารวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 13(4), 322-34. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/neuarj/article/view/267085.
Macaro, E., Curle, S., Pun, J., An, J., and Darden, J. (2018). A systematic review of English medium instruction in higher education. Retrieved April 24, 2023, from https://doi.org/10.1017/S0261444817000350
Sameephet, B. (2020). On the fluidity of languages: A way out of the dilemma in English medium instruction classrooms in Thailand (Thesis, Doctor of Philosophy (PhD)). The University of Waikato, Hamilton, New Zealand. Retrieved from https://hdl.handle.net/10289/13498
Ulla, M. B., Bucol, J. L., and Na Ayuthaya, P. D. (2022). English Language Curriculum Reform Strategies: The Impact of EMI on Students’ Language Proficiency. Retrieved April 27, 2023, from https://doi.org/10.1016/j.amper.2022.100101
บทความโดย อาจารย์เสฎฐวุฒิ เตชะสาน
นักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ รุ่นที่ 12