Predatory Journal ภัยร้ายของนักวิชาการ

หากเราเคยตีพิมพ์บทความเป็นภาษาอังกฤษในวารสารระดับนานาชาติซักเพียงชิ้นเดียว หลังจากนั้นไม่เกิน 1-2 สัปดาห์เรามักจะได้รับอีเมลชื่นชมจากบรรณาธิการวารสาร (หลายวารสารเลยหละ เอาจริง ๆ) ว่าได้อ่านบทความชิ้นนั้นและประทับใจในคุณภาพทางวิชาการพร้อมทั้งเชิญชวนให้เราส่งบทความอื่นๆที่ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ไปให้วารสารของเค้าพิจารณา วารสารเหล่านี้มักโฆษณาเชิญชวนอยู่บ่อยครั้งว่า ใช้เวลาในการพิจารณาด้วยกระบวนการคัดกรอง (peer review) ที่รวดเร็วทันใจ เป็นที่ถูกอกถูกใจนักวิชาการไฟแรงที่ต้องการสร้างผลงานจำนวนมากๆในเวลาสั้นๆ ถ้าเราเคยมีประสบการณ์แบบนี้เราควรเอะใจซักนิดว่าวารสารเหล่านี้อาจเป็นวารสารล่าเหยื่อ หรือ Predatory Journal หากเกิดเผลอตัวเผลอใจส่งงานที่เราทุ่มเทความพยายามมากมายไปลงตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้ (ซึ่งจะได้รับการตอบรับไวมาก ๆ) เราอาจ “เสียของ” โดยไม่รู้ตัว แล้วเราจะสังเกตลักษณะของวารสารอันตรายพวกนี้ได้อย่างไร

วันนี้ในฐานะบรรณาธิการวารสารนานาชาติ ขอมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ทราบถึงข้อสังเกตของวารสารล่าเหยื่อเพื่อจะได้ระวังตัวไม่ถูกหลอกทั้งเงินและทั้งผลงานวิจัย

  • วารสารล่าเหยื่อพวกนี้มักจะตีพิมพ์ข้ามสาขา (discipline) บางครั้งในฉบับ (issue) เดียวกันอาจมีบทความที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาและบางสาขาไม่น่า (และไม่ควร) จะมาปรากฏในวารสารเดียวกันได้ เช่น บางวารสารตีพิมพ์บทความวิจัยทั้งสาขาปรัชญาตะวันออก ฟิสิกส์ วรรณคดี ดนตรีศึกษา ฯลฯ ลักษณะแบบนี้บ่งชี้ได้ดีว่าวารสารนั้นไม่มีการกำหนด Aim & Scope ที่ชัดเจน ทำให้วารสารไม่มี focus
  • ระเบียบวิธีวิจัย (methodology) ในบทความนั้นๆมีคุณภาพต่ำ ซึ่งถ้าเป็นงานในศาสตร์เดียวกับเราๆจะบอกได้ทันทีว่าไม่ถูกต้อง เช่น ใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสาขานั้น ๆ ไม่มีการสุ่มตัวอย่างตามหลักวิชาการ หรือ เลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลไม่เหมาะสม
  • ภาษาอังกฤษที่ใช้มีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์หรือตัวสะกดอย่างเด่นชัด อันแสดงให้เห็นถึงความสะเพร่าของการตรวจพิสูจน์อักษรของกองบรรณาธิการ หลายครั้งที่ข้อผิดพลาดจะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ชื่อบทความและบทคัดย่อ ส่วนในตัวบทความแทบไม่ต้องสงสัย มีที่ผิดอีกเพียบจนน่าตกใจ
  • วารสารกลุ่มนี้มักตั้งชื่อให้มีความคล้ายคลึงกับวารสารที่มีชื่อเสียงในสาขานั้น ๆ แต่มีการเปลี่ยนคำ หรือเติมคำบางคำเพิ่มลงไป เช่น เติมคำว่า the หรือ International Journal of ลงไปเพื่อให้ผู้แต่งบทความเกิดความสับสนและคิดว่ากำลังส่งผลงานไปวารสารระดับ top และจะดีใจมากๆถ้าได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์อย่างง่ายดาย
  • มักจะมีการโฆษณาว่ามีค่าอ้างอิงที่รู้จักกันว่า Impact factor ในระดับสูง แต่ความจริงอุปโลกน์ตัวเลขขึ้นมา ค่า Impact Factor ของแท้จะต้องคำนวณโดยฐานข้อมูล Web of Science หรือ WoS (ซึ่งเป็นฐานไฮโซมาก ๆ นะ ไม่แพ้ Scopus) ซึ่งถ้าวารสารไม่ได้อยู่ในฐาน WoS ก็ไม่อาจมีค่าอ้างอิงตัวนี้ได้

วารสารที่น่าสงสัยเหล่านี้มักกระหน่ำส่งอีเมล์เชิญชวนให้เราส่งงานไปลงตีพิมพ์แบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์เลย บอกตรง ๆเลยว่าวารสารระดับดี ๆ ทีมบรรณาธิการจะงานยุ่งจนไม่มีเวลามาเขียนหาลูกค้า (ผู้แต่ง) แบบนี้ได้อย่างแน่นอน

บทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภกรณ์ ภู่เจริญศิลป์
ผู้อำนวยการสถาบันภาษาและบรรณาธิการ LEARN Journal ในฐาน Scopus (Q1)