รู้จัก Desk Rejection ปัญหาหนักใจนักวิจัยมือใหม่

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วงการการตีพิมพ์อาจยังไม่ทราบคือ การส่งต้นฉบับบทความที่เราเขียนไปยังวารสาร จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเบื้องต้น

ซึ่งแต่ละวารสารใช้เวลาแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความโด่งดังของวารสาร วารสารที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะวารสารในฐาน Scopus (โดยเฉพาะวารสารที่อยู่ใน Q ต้นๆ) มักใช้เวลาในส่วนนี้นานถึง 5-6 เดือน 😯

บุคคลสำคัญในกระบวนการนี้คือ บรรณาธิการและทีมกองบรรณาธิการที่จะมาช่วยกัน screen คุณภาพเบื้องต้นของต้นฉบับนั้นๆ ก่อนพิจารณาว่าสมควรส่งออกไปที่ผู้ทรงคุณวุฒิ (peer reviewer) เพื่อประเมินและตัดสินต่อไปว่าควรได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ดีหากเนื้อหาของบทความไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขตที่วารสารกำหนด (aim & scope) หรือเกี่ยวข้องแต่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ของวารสาร ต้นฉบับนั้นจะถูกปฏิเสธการตีพิมพ์เลย สิ่งนี้คือ desk rejection นั่นเอง

ทุกคนทราบกันมั้ยว่าสาเหตุของ desk rejection อาจมีได้ตั้งแต่

  • เขียนบทคัดย่อ (abstract) ไม่เหมาะสม เช่น อาจมีความยาวมากเกินหรือน้อยกว่าที่วารสารกำหนด นำเสนอผลการวิจัยโดยสังเขปไม่ชัดเจน หรือมีจำนวนย่อหน้าเกิน 1 ย่อหน้า (วารสารส่วนใหญ่จะให้เราเขียนบทคัดย่อแค่ 1 ย่อหน้า)
  • ผู้เขียนไม่ได้เตรียมต้นฉบับบทความตาม stylesheet template ที่วารสารกำหนด เรื่องนี้บางวารสารค่อนข้างเข้มงวดและอาจปฏิเสธการตีพิมพ์ได้เลยตั้งแต่ต้น
  • literature ที่อ้างอิงเก่าหรือเก่ามาก ไม่อ้างอิงงานวิจัยในช่วง 5 ปีย้อนหลังถึงปัจจุบันเลย
  • งานวิจัยที่นำเสนอ เป็นหัวข้อที่ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ ไม่มีตัวแปรอะไรใหม่ เช่นศึกษาเรื่องการออกเสียงพยัญชนะ /l/ หรือ /r/ ที่บกพร่องของผู้เรียนภาษาอังกฤษชาวไทย หรือศึกษาเรื่อง motivation โดยทั่ว ๆ ไปในการเรียนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศของนักศึกษามหาวิทยาลัย ฯลฯ

ยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่ผู้เขียนมือใหม่ไม่ทราบเกี่ยวกับ desk rejection คำว่า desk ในที่นี้จริงๆ แล้วคือโต๊ะทำงานของ(กอง)บรรณาธิการนั่นเอง ที่ทำหน้าที่คัดกรองเบื้องต้นว่าบทความที่ส่งมาควรได้ไปต่อหรือไม่

บทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภกรณ์ ภู่เจริญศิลป์
ผู้อำนวยการสถาบันภาษาและบรรณาธิการ LEARN Journal ในฐาน Scopus (Q1)