ปัจจุบันนี้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการจัดการเรียนรู้ในโลกแห่งการสื่อสารนี้ภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างมาก พ่อแม่ผู้ปกครองจึงพยายามที่จะปลูกฝังและส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษให้บุตรหลานมากที่สุด English Program หรือ Mini-English Program จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้ความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เกือบทุกโรงเรียนต้องสร้างหลักสูตรดังกล่าวตามความต้องการที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ของผู้ปกครองและนักเรียน
หากจะกล่าวถึงการจัดการเรียนรู้ที่เป็นสองภาษาในรูปแบบหนึ่งก็จะเป็นที่รู้จักกันได้ดีคือการแนวการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหาและภาษา (Content and language Integrated Learning: CLIL) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การสอนไวยากรณ์ คำศัพท์ หรือทักษะทางภาษาอังกฤษ แต่คำว่า “เนื้อหา” ในที่นี้หมายถึงเนื้อหาของรายวิชาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะทางการสื่อสารภาษาต่างประเทศที่เป็นภาษาเป้าหมาย (ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาประจำชาติของตนเอง) ซึ่งในบริบทของประเทศไทย ภาษาอังกฤษเป็นภาษาเป้าหมายสำคัญในการเรียนรู้และการสื่อสารผ่านทางเนื้อหาของรายวิชา แนวการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ จึงมีจุดเน้นหลัก ๆ สองด้านคือการเรียนรู้ทางด้านเนื้อหาของวิชาและการเรียนรู้ทางด้านภาษาอังกฤษควบคู่กันไปด้วย
แนวการจัดการเรียนรู้ CLIL มีต้นกำเนิดมาจากทวีปยุโรปเริ่มต้นจากทศวรรษที่ 1990 ด้วยต้องการให้พลเมืองยุโรปสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากภาษาประจำชาติของตัวเอง โดยมีหลักการสำคัญว่าผู้เรียนจะได้เรียนรู้ภาษาได้ดีเมื่อมีพวกเขาได้ใช้ภาษานั้นอย่างมีความหมาย (meaningful purpose) กล่าวคือใช้ในการเรียนวิชาเนื้อหานั่นเอง สำหรับประเทศไทย มีการกล่าวถึงแนวการเรียนรู้แบบ CLIL ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 โดยการนำเข้ามาของ British Council และกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงแรกเริ่มแนวการเรียนรู้แบบ CLIL นี้ มีแนวปฏิบัติให้ครูที่สอนเนื้อหาซึ่งในที่นี้ เช่น ครูคณิตศาสตร์ ครูวิทยาศาสตร์ ครูสังคมศึกษาทำงานร่วมกับครูสอนภาษาภาษาอังกฤษในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ เป้าหมายสำคัญคือเพื่อยกระดับสมรรถนะทางภาษาอังกฤษของผู้เรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาครูมืออาชีพที่สามารถสอน CLIL ได้ในอนาคต
หากจะกล่าวถึงจุดเน้นหรือหัวใจสำคัญของแนวการเรียนรู้ CLIL เปรียบง่าย ๆ ได้กับหัวใจของมนุษย์กล่าวคือประกอบไปด้วยสี่ห้อง ดังนี้ ห้อง 1 มิติด้านเนื้อหา ห้อง 2 มิติการสื่อสาร ห้อง 3 มิติการคิด และ ห้อง 4 มิติวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงบริบทของที่ที่มีการนำแนวการเรียนรู้แบบ CLIL ไปใช้ด้วยกรอบแนวคิดข้างล่างนี้ ต่อไปจะขอกล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละห้องแบบคร่าว ๆ
ห้องที่ 1 มิติด้านเนื้อหา (Content)
มิติด้านเนื้อหาด้านเนื้อหาเปรียบเสมือนกับหัวใจห้องที่หนึ่งและมีความสำคัญที่สุดกล่าวคือด้านเนื้อหาในที่เป็นสาระการเรียนรู้ในการเรียนในคาบเรียนนนั้น ๆ ตัวอย่างของเนื้อหาในรายวิชาวิทยาศาสตร์ที่รู้จักกันดี เช่น เรื่องวัฏจักรของน้ำ (The Water Cycle) นอกจากนี้เนื้อหาไม่ได้หมายความถึงแค่เพียงความรู้ที่จะได้เท่านั้นแต่หมายถึงทักษะต่างๆ ที่มีความหลากหลาย โดยผู้เรียนได้รับการคาดหวังให้เพิ่มพัฒนาความรู้และเข้าใจทักษะต่างๆเหล่านี้ผ่านทางเนื้อหาที่ต้องเรียน
ห้องที่ 2 มิติการสื่อสาร (Communication)
หัวใจห้องที่สองคือมิติด้านการสื่อสาร ถึงแม้จะเป็นหัวใจห้องที่สอง แต่ก็มีความสำคัญพอๆกับมิติด้านที่หนึ่งนั่นก็คือภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยภาษาอังกฤษที่ใช้นั้น ต้องเป็นส่วนของภาษาอังกฤษที่พบเจอในเนื้อหาจากข้อที่หนึ่งที่กล่าวมาแล้วกล่าวคือหากครูต้องการสอนเรื่องวัฏจักรของน้ำ ส่วนของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่พบในเนื้อหาเกี่ยวกับวัฏจักรของน้ำ เช่น คำศัพท์ต่างๆที่ใช้ในวัฏจักรของน้ำ (Evaporation การระเหย – Condensation การควบแน่น – Precipitation หยาดน้ำฟ้า) หรือ ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่พบในเรื่องดังกล่าว เป็นต้น ส่วนนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของครูสอนภาษาอังกฤษจะต้องสามารถดึงเอาลักษณะหรือจุดเน้นเฉพาะของภาษาที่ปรากฏในเนื้อหาวัฏจักรของน้ำออกมาและสอนเน้นควบคู่กันไปกับวัฏจักรของน้ำเพราะแน่นอนว่าครูสอนภาษาอังกฤษอาจจะถ่ายทอดมุมมองด้านภาษาอังกฤษได้ดีกว่าครูวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะยังไม่มีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษในขณะเดียวกันครูสอนภาษาอังกฤษก็ต้องการความช่วยเหลือจากครูวิทยาศาสตร์ด้านเนื้อกระบวนการหรือจุดเน้นเฉพาะของเรื่องวัฏจักรของน้ำจากครูวิทยาศาสตร์ ในมิตินี้จึงมีผู้เสนอการนำ “มุมมองภาษาสามด้าน (Language Triptych)” เข้ามาช่วยในการออกแบบการจัดการเรียนรู้
มุมมองภาษาทั้งสามด้าน ประกอบไปด้วย ภาษาที่นักเรียนจะได้การเรียนรู้ (Language of Learning) ด้านนี้จะกล่าวถึงคำศัพท์ สำนวนสำคัญ หรือแม้กระทั่งคำศัพท์เฉพาะทางและไวยากรณ์เฉพาะทางที่พบในวัฏจักรของน้ำที่ได้เลือกมาแล้ว ส่วนที่สองคือ ภาษาที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ (Language for Learning) ส่วนนี้หมายถึง หน้าที่ของภาษาที่ใช้ในเนื้อหานั้น ๆ ภาษามีหน้าที่อะไร เช่น การใช้ภาษาเพื่อบอกกระบวนการในวัฏจักรของน้ำ (Sequencing Language) เป็นต้น ส่วนสุดท้าย เรียกว่า ภาษาที่ได้จากการเรียนรู้ภาษา (Language through Learning) คือลักษณะของภาษาที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ตลอดกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นในเรื่องวัฏจักรของน้ำ เช่น นักเรียนเรียนรู้การหาคำศัพท์จากเพื่อน เพื่อนนักเรียนช่วยให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) เมื่อนักเรียนนำเสนอกระบวนการเสร็จ ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ครูสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าแต่นักเรียนแต่ละคนจะมีการเรียนรู้การใช้ภาษาใหม่ใหม่ได้แตกต่างกัน กรอบแนวคิดมุมมองภาษาทั้งสามด้าน ได้นำเสนอผ่านรูปภาพข้างล่างนี้
ห้องที่ 3 มิติการคิด (Cognition)
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในห้องเรียนปัจจุบัน การคิดเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ดังนั้นหนึ่งหัวใจสำคัญของแนวการเรียนรู้ CLIL คือ การส่งเสริมและพัฒนาการคิดให้ผู้เรียน โดยในมิตินี้ผู้สอนสามารถวางแผนการจัดการเรียนรู้ได้จาก ระดับขั้นการเรียนรู้ของ Bloom (Bloom’s Taxonomy) ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่าในการเรียนรู้จะได้ฝึกพฤติกรรมการคิดตามลำดับตั้งแต่มิติด้านความรู้ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การประเมินค่าและการสร้างสรรค์ เช่น ในเรื่องวัฏจักรของน้ำ ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการระบุและวิเคราะห์แบบแผนของวัฏจักรของน้ำ หรือให้นักเรียนบอกวิธีการประยุกต์ที่สิ่งเรียนมาใช้ในการอธิบายสถานการณ์ที่พบในชีวิตประจำวันเป็นต้น เป้าหมายสำคัญนอกจะพัฒนาการคิดในขั้นต่างๆ แล้ว ยังต้องการเส่งเสริมการฝึกการคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking) อีกด้วยครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่อ้างอิงจากพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมการคิดให้สอดคล้องกับเนื้อหา ให้กับนักเรียนอย่างน้อยในหนึ่งด้านการคิดสักหนึ่งด้านในแต่ละครั้งของการเรียน CLIL
ห้องที่ 4 มิติด้านวัฒนธรรม (Culture)
หัวใจห้องสุดท้ายคือมิติด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ในที่นี้หมายถึง การจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ต้องการมุ่งเน้นเพื่อให้นักเรียนตระหนักและยอมรับในความแตกต่างของวัฒนธรรม ด้วยว่าแนวการเรียนรู้ CLIL พัฒนามาจากทวีปยุโรป จึงต้องการเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างทางเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล สังคมวิชาชีพ ดังนั้นเมื่อแนวการเรียนรู้นี้ถูกนำเข้ามา ฝั่งเอเชียจึงมีการเพิ่มมิติด้านวัฒนธรรมให้กว้างขึ้นกล่าวคือ อาจจะหมายถึง สังคมชุมชน (Community) หรือการเป็นพลเมือง (Citizenship) ที่ดีนั่นเอง ตัวอย่างเช่นเมื่อเรียนเรื่องวัฏจักรของน้ำแล้วผู้สอนสามารถนำอภิปรายเรื่องวัฎจักรของน้ำให้มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนหรือสังคมที่ผู้เรียนอาศัยอยู่ หรือชี้แนะให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำต่อมนุษย์ และการเป็นพลเมืองที่ดีในการอุปโภคบริโภคน้ำ เป็นต้น
เมื่อนำหัวใจสำคัญของแนวการเรียนรู้ CLIL มารวมกับมุมมองภาษาทั้งสามด้านจะได้กรอบแนวคิดดังภาพที่นำมาใช้ในการออกแบบการจักการเรียนรู้ตามแนวการเรียนรู้ CLIL
ทั้งนี้แนวการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหาและภาษายังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมากขึ้นในหลากหลายประเทศโดยเฉพาะในแถวเอชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และแน่นอน ในประเทศไทย รูปแบบ CLIL ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในทุกระดับการศึกษา เริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียนชั้นประถมศึกษาที่ส่งเสริมพัฒนาความสามารถในการสื่อสารด้วยวาจา (Chaiyaratana & Ekkayokkaya, 2022) ระดับมัธยมศึกษาที่ช่วยพัฒนาความรู้ด้านคำศัพท์และเนื้อหาวิทยาศาสตร์ของนักเรียน (Kruawong & Phoocharoensil, 2024) ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่การนำ CLIL มาใช้ในรายวิชาวรรณกรรม สามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เช่น การอ่าน การพูด และการเพิ่มคำศัพท์ รวมถึง soft skills อย่างการทำงานเป็นทีมและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Wangmanee, 2024)
นอกจากนี้ ในการเตรียมครูก่อนประจำการ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการฝึกอบรม CLIL ช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะของนักศึกษาครูในการออกแบบสื่อการสอนและการนำไปใช้จริง (Charunsri & Sripicharn, 2023) ขณะเดียวกัน สำหรับครูประจำการ การบูรณาการแนวทาง CEFR-CLIL ที่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมไทย ช่วยสร้างหลักสูตรที่ส่งเสริมทั้งการพัฒนาทักษะภาษาและความสามารถเชิงวิชาชีพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต (Kaewkamnerd et al., 2023).
อย่างไรก็ตามเหมือนกับแนวการศึกษาอื่น ๆ การใช้แนวการเรียนรู้แบบ CLIL ก็มีความท้าทายอีกมากมายที่บุคลากรทางการศึกษาจะต้องร่วมกันหาทางออกและพัฒนา เช่น การวัดและการประเมินผลว่าจะเน้นที่เนื้อหาหรือภาษาหรือแม้แต่กระทั่งการพัฒนาครู CLIL ในสถาบันผลิตครู หรือแม้แต่กระทั่งการส่งเสริมให้ครูประจำการพัฒนาตัวเองให้สามารถจัดกิจกรรมตามแนวการเรียนรู้แบบ CLIL ได้ เพื่อให้การนำแนวการเรียนรู้นี้มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาภาษาอังกฤษพร้อม ๆ กับเนื้อหาให้กับผู้เรียนคนไทยมากขึ้น แนวการเรียนรู้แบบ CLIL นี้ ดังกล่าวนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของการศึกษา
References
Kruawong, T., & Phoocharoensil, S. (2024). Enhancing science vocabulary and content knowledge of Thai EFL students through content and language integrated learning (CLIL) and English science textbooks word lists (ESTWL). REFLections, 31(1), 275–294. https://doi.org/10.61508/refl.v31i1.272797
Wangmanee, P. (2024). Enhancing English and soft skills through CLIL and children’s literature: A qualitative case study of Thai undergraduates. Journal of Studies in the English Language, 19(2), 1–25. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jsel/article/view/268808
Kaewkamnerd, K., Dibyamandala, J., Mangkhang, C., & Khuankaew, S. (2023). Navigating the landscape of CEFR-CLIL-based language pedagogy in the Thai context: A captivating journey through needs analysis. 3L: Language, Linguistics, Literature, 29(4). https://doi.org/10.17576/3L-2023-2904-1
Charunsri, K., & Sripicharn, P. (2023). Effects of content and language integrated learning (CLIL) training program on Thai pre-service teachers’ knowledge of CLIL approach, CLIL material design, and CLIL teaching. International Journal of Education and Literacy Studies, 11(4), 3–12.
Chaiyaratana, S., & Ekkayokkaya, M. (2022). The effects of dialogic teaching in CLIL science subject on English oral communication ability of primary students in English program. An Online Journal of Education, 17(1), OJED1701015. https://doi.org/10.14456/ojed.2022.19
Charunsri, K. (2019). The challenges of implementing Content Language Integrated Learning in tertiary education in Thailand: A review and implication of materials. Advances in Language and Literary Studies, 10(4), 125-129.
Coyle, D. (2002). Relevance of CLIL to the European Commission Language Learning Objectives. In D. Marsh (Ed.), CLIL/EMILE European Dimension: Actions, Trends and Foresight Potential European Commission, Public Services Contract DG 3406/001-001.
Coyle, D., Hood, P. & Marsh, D. (2010). CLIL Content and Language Integrated Learning. Cambridge University Press.
Dalton-Puffer, C. (2011). Content-and-language integrated learning: From practice to principles? Annual Review of applied linguistics, 31, 182.
Dalton-Puffer, C., & Nikula, T. (2014). Content and language integrated learning. The Language Learning Journal, 42(2), 117-122. European Commission, 2012)
Kewara, P. (2017). Phrasebook: A way out for CLIL teachers in Thailand. Latin American Journal of Content and Language Integrated Learning, 10(1), 49-73.
MacKenzie, A. S. (2008). CLILing me softly in Thailand: Collaboration, creativity and conflict. Onestopclil. com.
Mehisto, P., Marsh, D., & Frigols-Martín, M. J. (2008). Uncovering CLIL: Content and language integrated learning in bilingual and multilingual education. Macmillan Education
บทความโดย ดร.ธนา เครือวงค์
นักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ รุ่นที่ 9