What do you mean?✖️ What do you meme?✔️

มีม (meme)

คำสั้น ๆ คำนี้ฟังดูแล้วน่ารัก ดูใส ๆ แต่พอมีคนสร้างและใช้อย่างถูกที่ ถูกเวลาแล้ว มีมนั้นกลับสร้างผลสะเทือนวงการโซเชียล กลายเป็นไวรัลที่ชาวเน็ตต้องอ่านต้องดูต้องตามมีมใหม่ ๆ อยู่ทุกวัน เรียกได้ว่าเป็นของที่ต้องมี ของที่ขาดไม่ได้ สำหรับโลกยุคดิจิตอล

คำว่า มีม ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษของ Oxford หมายถึง ภาพ วิดีโอ หรือข้อความต่าง ๆ ที่ถูกทำซ้ำและเผยแพร่โดยชาวเน็ตซึ่งสิ่งเหล่านั้นมักจะแปลกแตกต่างกันออกไป

มีมมาจากไหน

ว่ากันว่าเราสร้าง มีม มาก่อนที่จะเกิดคำว่า มีม เสียอีก ย้อนไปในปี ค.ศ. 1919 หรือ 1920 มีการ์ตูนช่อง (comic) ในนิตยสารวิสคอนซิน ออกโตปัส (Wisconsin Octopus) ที่เกี่ยวกับ ภาพที่สร้างกับร่างที่เป็น (Expectations vs. Reality) โดยในภาพเป็นชายคนหนึ่งบรรยายถึงคู่นัดให้เพื่อนเขาฟังอย่างเลิศหรูแต่ปรากฏว่าเมื่อเจอตัวจริงชายหนุ่มถึงกับไปต่อไม่เป็นเลยทีเดียว

(Wisconsin Octopus)

มีมแบบนี้เป็นการสื่อสารโดยใช้ภาพและตัวอักษรเพียงไม่กี่คำแต่สร้างทั้งความขำขันและเสียดสีสังคมได้ทุกยุคทุกสมัย ผ่านมาอีก 50 ปี (ค.ศ. 1976) ริชาร์ด ดอว์คินส์ (Richard Dawkins) นักชีววิทยาของอังกฤษ ได้ให้นิยามของการสื่อสารแบบนี้ว่า มีม ในหนังสือชื่อ The Selfish Game โดยบอกด้วยว่าให้ออกเสียงคล้องจองกับคำว่า ครีม (cream) อย่างไรก็ตาม กว่าคำนี้จะฮิตติดหูก็เพิ่งไม่นานมานี้ ในยุคของทวิตเตอร์ หรือ เอ็กซ์ และติ๊กต็อก ที่ทำให้มีมหลาย ๆ ชิ้นกลายเป็นไวรัลติดหูติดตาคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกอริลล่าฮารัมเบ, แฟลปปี้เบิร์ด, เกวิน โทมัส เจ้าหนูหน้านิ่ง, โซอี รอธ สาวน้อยมหันตภัย, เดรค ผู้ชายเสื้อส้มบอกเยสหรือโน และล่าสุดก็คงหนีไม่พ้นเจ้าฮิปโปแคระ หมูเด้ง ฟรอมไทยแลนด์

ประเภทของมีม

มีมถูกใช้ในแทบทุกวงการทั้งด้านการบันเทิง ข่าวสาร สารคดี กีฬา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาเนื่องจากมีมมีลักษณะทางการเขียนที่แตกต่างหลากหลายจึงมีการแบ่งประเภทต่างกันออกไป ในบล็อกนี้จะขอแบ่งมีมตามการใช้ภาษาเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้

  • มีมสร้างสรรค์ (creative meme) ดูแล้วขำ เน้นเอามัน เอาฮา Fun Facts about Our Ears อะไรที่คนเคยรับรู้มาแล้วแต่พอมาดูจริง ๆ มันกลับไม่เป็นอย่างที่คนเชื่อ
  • มีมโน้มน้าวใจ (persuasive meme) อ่านแล้วอยากได้ อยากมี อยากเป็นแบบที่มีมบอก ไม่ว่าจะเป็นความคิด พฤติกรรม หรือลักษณะบางอย่างทั้งในด้านสังคม การเมืองหรือวัฒนธรรม เช่น คำคมจากคนดังจริงหรือดังเพราะต้องการแสง
  • มีมโต้แย้ง (argumentative meme) เปรียบเทียบสิ่งเก่าใหม่ สิ่งดีสิ่งแย่ สิ่งที่คาดหวังและความจริง เช่น การเปรียบเทียบภาพคนอื่นตอนออกกำลังกายหุ่นดีแต่อีกภาพหนึ่งเป็นตัวเองที่หมดสภาพคาห้องยิม หรือ คาดว่าคอนเสิร์ตจะต้องมีคนแน่น ๆ แต่พอไปถึงมีแต่คนขายลูกชิ้นปิ้งกับปลาหมึกแถวบน
  • มีมเล่าเรื่อง (narrative meme) ลงรูปธรรมดา ๆ แต่แหม ช่างตรงกับชีวิต ตรงใจคนฟอลเหลือเกิน เช่น วางมือถือไว้ในตู้เย็น หรือขับรถวนไปมาระหว่างบ้านและที่ทำงานเพราะลืมสารพัดสิ่ง
  • มีมอธิบาย (expository meme) อธิบายหัวข้อหรืออะไรที่ยาก ๆ ให้เข้าใจได้ภายในสองสามภาพ ประมาณว่า รู้งี้ทำมาตั้งนานแล้ว เช่น สาธิตการตั้งค่ามือถือ หรือ การใส่สูตรต่าง ๆ ใน Excel ที่ดูแล้วต้องลองทำซะหน่อย
  • มีมเชิงเทคนิค (technical meme) เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเช่น เด็กเนิร์ด โอตาคุ คนตีป้อม เท่านั้นที่จะเข้าใจมีมพวกนี้ได้ เช่น “เราหาเธอไม่เจอหรอก เพราะเธออยู่ห้อง 404 (File Not Found)”
Image credit: Imgflip.com

มีมที่ดี อาจจะไม่ใช่มีมที่ตลกที่สุดหรือว้าวที่สุด แต่เป็นมีมที่สามารถสื่อความหมายได้ตรงใจกับผู้ทำมีมได้ดีที่สุด ส่วนจะไวรัลหรือเปล่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือเทรนด์ตอนนั้น ภาษาและบริบทจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำมีม

มีมในห้องเรียน

การใช้มีมในห้องเรียนภาษาเป็นการส่งเสริมทั้งความสร้างสรรค์ทางภาษา (Linguistic creativity) และ การใช้สื่อหลากรูปแบบ (multimodality) (Alslan, 2024) ของผู้เรียน การสร้างมีมทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหา บริบท และการสื่อความหมายจากข้อความธรรมดาให้มีสื่อความได้มากขึ้น รวมทั้งผู้เรียนจะเข้าใจภาษาที่วิวัฒนาการผ่านรูปแบบดิจิตอล นอกจากนั้น มีมที่มีทั้งข้อความ รูป ภาพ หรือเสียง ย่อมทำให้ผู้เรียนเข้าใจการสื่อความหมายผ่านทั้งวัจนและอวัจนภาษา (verbal and non-verbal languages) ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวอักษรแต่หากเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันแล้วสามารถสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะในปัจจุบันมีมในอินเตอร์เน็ทต้องมีทั้งข้อความและองค์ประกอบอื่น ๆ หลากหลายแบบในการสื่อความหมาย โดยเฉพาะในโลกโซเชียลการโพสต์แค่ตัวหนังสือคงไม่พอ ยังต้องมีรูป ลิ้งค์ คลิปวิดีโอ เสียง มาประกอบเพิ่มเติมเพื่อทำให้คนเข้าใจและสนใจในสารนั้นอยู่ด้วย (Kern, 2015)

สอนภาษาอังกฤษชั่วโมงหน้าหากคิดมุกอะไรไม่ออก ลองเริ่มจากมีมกันก็น่าจะสนุกอยู่นะครับ

References:

Aslan, E. (2024). Bite-sized language teaching in the digital wild: Relational pedagogy and micro-celebrity English teachers on Instagram. System. ISSN 1879-3282. https://doi.org/10.1016/j.system.2024.103238

Garken, T. (2018). Is this 1921 Cartoon the First Ever Meme? BBC UGC & Social News. Retrieved from https://www.bbc.com/news/blogs-trending-43783521

Oxford University Press. (n.d.). Meme. In Oxford English dictionary. Retrieved November 1, 2024, from https://www.oed.com/view/Entry/107071

Jones, R. (2020). Towards an embodied visual semiotic. In Thurlow, C., Dürscheid, C., & Diémoz, F. (Eds.), Visualizing digital discourse: Interactional, institutional and ideological perspectives. De Gruyter. ISBN 9781501510113

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรักษ์ สิทธิรักษ์
อาจารย์ประจำสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์