4 Myths About International Journal Publication: 4 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

พวกเราทุกคนที่เป็นนักวิชาการโดยเฉพาะอาจารย์ระดับอุดมศึกษาคงจะตระหนักดีถึงความสำคัญของการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ชี้วัดถึงความแข็งแกร่งทางวิชาการของสถาบันการศึกษานั้น ๆ ในระดับสากล

แน่นอนว่าการตีพิมพ์ระดับนานาชาติผู้แต่งบทความต้องมีความสามารถทางภาษาอังกฤษในเกณฑ์ดีมากถึงดีเยี่ยมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้มาจากงานวิจัยของตนให้ผู้อ่านที่มาจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าใจตรงกันได้

ด้วยเหตุนี้วารสารระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงและอยู่ในฐานข้อมูลระดับ high-end เช่น ฐานข้อมูล Scopus หรือ Web of Science จะใช้มาตรฐานทางวิชาการระดับสูงลิ่วในการคัดกรองคุณภาพของต้นฉบับบทความที่ส่งมาขอรับการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ อย่างไรก็ตามนักวิชาการมือใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วงการการตีพิมพ์มักจะมีความเชื่อที่ผิด ๆ (myth) เกี่ยวกับการเขียนผลงานเพื่อส่งไปยังวารสารระดับเทพเหล่านี้ทำให้พลาดโอกาสการตีพิมพ์ไปอย่างน่าเสียดาย

วันนี้จะขอพูดถึงความเชื่อผิด ๆ 4 ประการพร้อมไขข้อข้องใจของผู้แต่งมือใหม่ทุกท่านครับ

MYTH 1: ภาษาอังกฤษที่ใช้เขียนไม่ต้องถูกไวยากรณ์มากนัก เดี๋ยวพอได้รับ comments จากผู้ประเมินแล้วค่อยหาฝรั่งเจ้าของภาษาช่วย edit ให้ทีเดียวเลยหลังแก้ไขเนื้อหา

หากบทความมีคุณภาพของภาษาอังกฤษต่ำกว่ามาตรฐานหรือมีที่ผิดพลาดทางไวยากรณ์เยอะมักจะถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ตั้งแต่แรก (desk rejection) เพราะความอ่อนด้อยของภาษามักจะไปบดบังคุณภาพของผลงานวิชาการทำให้ผู้ประเมิน (หรือตัวบรรณาธิการที่คัดกรองคุณภาพเบื้องต้น) อาจเข้าใจในเนื้อหาวิชาการที่นำเสนอคลาดเคลื่อนและนำไปสู่การไม่ยอมรับคุณภาพบทความนั้น ผู้แต่งเองก็แทบจะไม่มีโอกาสได้แก้ไขบทความนั้นเพราะถูกวารสาร reject ไปแล้วตั้งแต่ต้น

MYTH 2: ผู้แต่งควรระบุชื่อโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เก็บข้อมูลให้ชัดเจน

อันที่จริงแล้วการระบุชื่อองค์กรหรือสถาบันที่ผู้วิจัยเก็บข้อมูลเป็นการละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ นักวิชาการที่ดีควรระบุเพียงแค่ว่าตนเก็บข้อมูลจาก a public school หรือ a private university located in a northern province of Thailand โดยไม่ควรเปิดเผยข้อมูลของสถาบันทางการศึกษาที่เป็นแหล่งข้อมูลวิจัยอย่างเด็ดขาด

MYTH 3: ควรใช้ภาษาง่ายๆในการเขียนต้นฉบับและหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เฉพาะ (technical term)

การเขียนบทความทางวิชาการเน้นการสื่อสารกับผู้อ่านซึ่งเป็นนักวิชาการในระดับเดียวกัน การใช้ technical term ที่เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในแวดวงนั้น ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นและสร้างความน่าเชื่อถือทางวิชาการให้แก่ผู้เขียน ภาษาอังกฤษที่ใช้ก็ควรเป็นไปตามมาตรฐานภาษาเขียนเชิงวิชาการและผู้แต่งควรใช้รูปแบบประโยคที่ซับซ้อนสละสลวยและถูกต้องทางวิชาการ

MYTH 4: ถ้างานของเรามีคุณภาพดี วารสารจะยอมรับให้ตีพิมพ์ต้นฉบับบทความนั้นได้เลยโดยไม่ต้องแก้ไข

พึงระวังให้ดีว่าวารสารที่มีพฤติกรรมเช่นนี้มักเป็นวารสารล่าเหยื่อ (predatory journal) ซึ่งภายหลังจากที่ผู้แต่งจ่ายค่าดำเนินการ บทความจะได้รับการตีพิมพ์เกือบจะทันที ความจริงที่ต้องรู้คือ แม้แต่ผู้แต่งระดับศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเองต่างก็ต้องปรับแก้ต้นฉบับบทความตามคำแนะนำที่ได้รับจากผู้ประเมินอย่างรอบคอบ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่วารสารระดับนานาชาติคุณภาพสูงจะตีพิมพ์บทความที่ไม่ผ่านการแก้ไข

บทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภกรณ์ ภู่เจริญศิลป์
ผู้อำนวยการสถาบันภาษาและบรรณาธิการ LEARN Journal ในฐาน Scopus (Q1)